วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553




ในประเทศไทยนั้นมีพระพุทธรูปมากมายหลายแบบหลายสมัย ซึ่งแต่ละแบบแต่ละสมัยก็จะมีความแตกต่างทางศิลปะตามอิทธิพลของถิ่นกำเนิดและศิลปะต้นแบบ "พระพุทธรูปเชียงแสน" เป็นพระพุทธรูปอีกศิลปะหนึ่งที่สำคัญและมีต้นกำเนิดจากทางภาคเหนือครับผม

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาคเหนือของประเทศไทยเคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรอันกว้างใหญ่ชื่อว่า "อาณาจักรเชียงแสน" ในราวรัชสมัยพระเจ้าอนุรุทมหาราชแผ่อำนาจเข้ามาปกครองเมืองเชียงแสน พระองค์ได้นำเอาพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน (เถรวาท) อย่างพุกามเข้ามาเผยแผ่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาลัทธิหินยานที่เข้ามาทางประเทศอินเดียฝ่ายเหนือผ่านมอญและพม่า

อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง การสร้างพระพุทธรูปจึงได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะอินเดียสกุลช่างปาละ ซึ่งมีพุทธลักษณะที่สำคัญคือ พระรัศมีทำเป็นแบบดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว ขมวดพระเกศาทำเป็นก้นหอยใหญ่ พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม ลำพระองค์อวบอูมสมบูรณ์ พระอุระนูน ชายสังฆาฏิเหนือพระอังสาซ้ายสั้นและปลายแตกเป็นปากตะขาบ นิยมสร้างเป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร และปรากฏพระบาททั้งสองข้าง และตั้งชื่อพระพุทธรูปศิลปะแบบนี้ว่า "พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน" เชื่อกันว่าเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ของไทย

"พระพุทธรูปเชียงแสน" ไม่ได้มีจำกัดอยู่เฉพาะที่เมืองเชียงแสนเท่านั้น แต่ได้ขยายขอบข่ายออกไปถึงเมืองเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน และเลยเข้าไปยังเมืองหลวงพระบางและนครเวียงจันทน์ ด้วยพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้เข้ามามีอำนาจอยู่ในนครเชียงใหม่ช่วงระยะหนึ่ง และกวาดต้อนชาวเชียงใหม่ที่มีฝีมือในการสร้างพระพุทธรูป ไปสร้างพระพุทธรูปในเขตเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทน์ จึงได้เกิดเป็นพุทธรูปศิลปะอีกแบบหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า "พระเชียงแสนลาว" หรือ "พระพุทธรูปแบบเชียงแสนนอกเมือง" มีอายุเทียบได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ประมาณอายุใกล้เคียงกับ "พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์ 3" หรือสมัยอยุธยา ยังมีการค้นพบในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยทั่วไป ซึ่งเป็นต้นแบบฝีมือสกุลช่างปั้นพระพุทธรูปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสมัยต่อมา พระพุทธรูปเชียงแสนยังได้รับอิทธิพลและแบบอย่างจากพุทธศิลปะประเทศลังกา ซึ่งเผยแผ่เข้ามาทางภาคใต้ของประเทศไทย เกิดเป็นพุทธศิลปะอีกแบบหนึ่งเรียกว่า "พระพุทธรูปเชียงแสนลังกาวงศ์"

สรุปว่าพระพุทธรูปเชียงแสนนั้น มีมาก มายหลายสกุลช่าง และได้มีการสืบสานการสร้างตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายร้อยปี พุทธลักษณะหลักมีดังนี้ พระเกศทำเป็นพระเกศบัวตูม พระศกทำเป็นขมวดก้นหอย และเม็ดพระศกค่อนข้างเขื่อง พระพักตร์อวบอูมดูสมบูรณ์ และปรากฏรอยยิ้มเล็กน้อย พระเนตรเป็นแบบเนตรเนื้อ (ไม่ฝังมุก) พระหนุเป็นรอยหยิก พระวรกายอวบอ้วนสมบูรณ์ ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวนมและแตกเป็นปากตะขาบ ซึ่งจะเรียกว่า "พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1" ถ้ายาวเลยราวนมลงมาเรียกว่า "พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 2" และสุดท้ายถ้ายาวลงมาจรดพระหัตถ์ จะเรียกว่า "พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 3" ครับผม


องค์นี้พึ่งได้มาเมื่อเดือนตุลา 2553 ขนาด สองนิ้วครึ่ง สภาพเดิม เก่าเก็บ ดินเดิมยังอยู่หายากมากเนื้อนี้ "พระเชียงแสน สิงห์หนึ่ง สนิมหยก"